ไหว้เทพเจ้าโชคลาภ ไฉ่ซิงเอี๊ย อย่างไร ให้ได้ผล

การไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่ซิงเอี๊ย ของชาวจีน จะไหว้ในวันขึ้นปีใหม่ ทางจันทรคติ ตามปฏิทินจีน หรือที่เรารู้จักกันก็คือ วันตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล รับโชคลาภตั้งแต่ต้นปีกันเลยทีเดียว ซึ่งการไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ยนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับฮวงจุ้ยซะทีเดียว เพราะไม่ได้เป็นการจัดสถานที่ หรือสภาพแวดล้อม ของที่อยู่อาศัย แต่เป็นพิธีกรรม หรือความเชื่ออย่างนึง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์จีน กล่าวคือ มีการใช้ทิศทางในการไหว้ ให้สัมพันธ์กับธาตุของวันตรุษจีนในปีนั้นๆ (ทิศไหว้ จะเป็นทิศโชคลาภของวันนั้นๆ)

โดยส่วนตัวแล้ว ตั้งแต่เด็ก ก็เห็นคุณแม่ไหว้ทุกๆปี แต่ผมก็ไม่ได้ใส่ใจ หรือถามท่านว่า ไหว้ทำไม ไหว้อย่างไร ก็แค่คอยช่วยหยิบจับเล็กๆน้อยๆ และตั้งตารอรับอั่งเปา ตามประสาเด็กๆลูกหลานชาวจีน จนได้มาศึกษาโหราศาสตร์จีน และฮวงจุ้ย อาจารย์ของผมก็แนะนำว่า ไหว้แล้วโชคดี มีโอกาสดีๆเข้ามาในชีวิตแบบรวดเร็วทันใจมาก ก็เลยลองไหว้ดู ก็พบว่า มีเรื่องดีๆตามที่อาจารย์ท่านแนะนำจริงๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เลยไหว้ทุกปี จึงอยากแนะนำวิธีการไหว้ที่ถูกต้อง และเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆ จะได้เฮงๆกันถ้วนหน้าครับ

การจัดวางโต๊ะไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย



1. เทียงเถ่าจี๊ – กระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่ ใช้ในการไหว้เทพเจ้า เราจะใช้เทียงเถ่าจี๊ ปูบนโต๊ะ ก่อนวางของไหว้

2. กระถางธูป พันผ้าแดง และเชิงเทียน 1 คู่ – ปักกิมฮวย หรือหางนกยูงในกระถางธูป และเตรียมเทียนแดง ปักไว้ในเชิงเทียน

3. แจกันดอกไม้ 1 คู่

4. น้ำชา 5 ถ้วย

5. ขนมอั่งอี้ หรือสาคู (ใช้เม็ดใหญ่) ในน้ำแดง 5 ถ้วย

6. ข้าวสวย 5 ถ้วย

7. เจฉ่าย 5 อย่าง ประกอบด้วย เห็ดหูหนูดำ (ธาตุดิน), ฟองเต้าหู้ (ธาตุทอง), เห็ดหอม (ธาตุน้ำ), ดอกไม้จีน (ธาตุไม้), วุ้นเส้น (ธาตุไฟ) โดยนำเจฉ่าย 5 อย่างนี้ ไปแช่น้ำให้พอง แล้วนำไปใส่ถ้วย แยกกัน โดยเรียงตามธาตุตามวงจรก่อกำเนิด เช่น น้ำ ไม้ ไฟ ดิน ทอง (ใช้อันไหนขึ้นก่อนก็ได้)

8. ผลไม้ 5 อย่าง มีสีครบทั้ง 5 ธาตุ เช่น แอปเปิ้ล (สีแดงธาตุไฟ), สาลี่ (สีเหลืองธาตุดิน), ส้ม (สีออกเหลืองๆส้มๆ ธาตุทอง), องุ่นดำ (สีดำหรือม่วงน้ำเงิน ธาตุน้ำ), กล้วยหอมยังไม่สุก (สีเขียวธาตุไม้)

9. ฮวกก้วย ถ้าไม่มี ใช้ขนมถ้วยฟู

10. ขนมมงคล แต้เหลี้ยว (หรือไทยเราเรียก จันอับ)

11. ชุดกระดาษไหว้เจ้า (เผาหลังไหว้) ประกอบด้วย

11.1 กิมเต้า หรือ หงิ่งเต้า 1 คู่ (อันนี้ไม่ต้องเผา แต่เก็บไว้บนหิ้ง ตลอดทั้งปี แล้วนำไปเผาในวันส่งเจ้า ก่อนตรุษจีนปีถัดไป 6 วัน) เปรียบเสมือนคลังสมบัติของเรา เก็บไว้ใช้ตลอดทั้งปี

11.2 หงึ่งเตี๋ย 12-13 แผ่น ตามจำนวนเดือนของจีน ในปีนั้นๆ โดยจะใช้ในการปัดจากหัวลงไปที่ตัวของผู้ไหว้ (จากหัวถึงเอว) จำนวนครั้ง ตามจำนวนหงิ่งเตี๋ย เช่น 12 แผ่น ก็ปัด 12 ที ทำหลังจากจุดธูปไหว้แล้ว

11.3 อั่งเทียบ – กระดาษแดง ไว้เชิญเทพเจ้า โดยเราจะเขียนชื่อ นามสกุล วันเดือนปีและเวลาเกิด ของผู้ร่วมไหว้ในพิธี ลงไปในกระดาษแผ่นนี้

11.4 กระดาษทอง แบบต่างๆ เช่น ทองแท่ง ทองก้อน อันนี้แล้วแต่เลย เพื่อให้ดูเหมือนมีเงินมีทองเยอะๆ

12 แก้วใส่น้ำ และกิ่งทับทิม (ในรูปผมลืมใส่ไว้) คล้ายๆน้ำมนต์ เอาไว้พรมในบ้าน หลังจากไหว้เสร็จ

ขั้นตอนในการไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย

ในการเริ่มพิธีไหว้นั้น เราจะทำในเวลา 23:00 น. ของคืนก่อนวันตรุษจีน ซึ่งจริงๆแล้ว เวลานั้น ถือเป็นวันใหม่แล้ว (ไม่ใช่เที่ยงคืนเหมือนสากล) คือเป็นยามแรกของวันตรุษจีนนั่นเอง หลายๆที่ แนะนำให้ไหว้ในเวลาต่างๆกัน แต่สำหรับผมแล้ว ไหว้ก่อนได้ก่อนครับ จัดไปยามแรกของวันเลย ดีที่สุด แต่มีข้อแม้ว่า ปีเกิดของเจ้าพิธี จะต้องไม่ชงกับวันตรุษจีน เช่น ตรุษจีนวันมะเส็ง เจ้าพิธีต้องไม่เกิดปีกุน เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเราชง ก็แค่ให้คนอื่นเป็นเจ้าพิธี แล้วเราค่อยไหว้ต่อจากเจ้าพิธี ก็ใช้ได้ครับ ส่วนจะตั้งโต๊ะหันหน้าไหว้ทิศไหน คอยดูตามเพจต่างๆ ในปีนั้นๆ ได้เลย (แต่ละปี ทิศไหว้ไม่เหมือนกัน)

เมื่อได้เวลาไหว้ ให้เจ้าพิธี จุดเทียนแดง และ จุดธูปมังกร 5 ดอก ส่วนคนอื่นๆ ใช้ธูปปกติ 5 ดอก ไหว้อธิษฐาน ขอพรเรื่องค้าขาย การงาน โชคลาภ คิดทำสิ่งใดในปีนี้ ขอให้สำเร็จ จากนั้น ปักธูป แล้วนำหงิ่งเตี๋ย มาปัดจากหัวไปเอว ทั้งหมด 12 หรือ 13 ครั้ง ตามจำนวนเดือนของจีน ในปีนั้นๆ เมื่อปัดครบทุกคนแล้ว ให้รีบดับเทียนแดง เคล็ดลับก็คือ ยิ่งเทียนแดงเหลือยาวเท่าไหร่ ยิ่งดีครับ เพราะฉะนั้น เลือกเทียนแดงที่ยาวๆหน่อย แล้วก็รีบอธิษฐาน รีบไหว้ให้เสร็จเร็วๆ โดยเทียนแดงที่เหลือนี้ เราจะนำไปตั้งไว้บนหิ้ง พร้อมกับ กิมเต้า เก็บไว้ทั้งปี จนกว่าจะถึงวันส่งเจ้า (ส่วนมาก 6 วัน ก่อนตรุษจีนปีถัดไป) ค่อยนำมาเผา

เมื่อดับเทียนแดงแล้ว ก็รอให้ธูปไหม้หมดดอก ระหว่างรอ ก็เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ตบท้ายด้วยอั่งเทียบ แล้วก็เทียงเถ่าจี๊ เป็นอันเสร็จพิธี ของไหว้ ทั้งข้าวสวย เจฉ่าย นำไปประกอบอาหารทานได้ รวมถึงผลไม้ และขนมต่างๆ เอาไว้ทานเป็นสิริมงคล อุดมสมบูรณ์ตลอดปีครับ ส่วนน้ำมนต์ ก็เอาไปพรมให้ทั่วบ้าน

สรุป สิ่งที่เหลือไว้ รอเผาปีหน้า ในวันส่งเจ้า ได้แก่ ผ้าแดงที่พันกระถางธูป, เทียนแดง, กิมฮวย, หงิ่งเต้า